URBAN CLOUDS
Location
Chulalongkorn University, Bangkok
Programme
CU Century Park
Area
45 Rais
Status
Competition
อุทยานจุฬาฯ 100 ปี
“ฝากต้นไม้ไว้ 5 ต้นให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2506 เมื่อครั้งพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาปลูกต้นจามจุรีด้วยพระองค์เอง ณ บริเวณหน้าหอประชุมจุฬาฯ
วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง(พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงจะมีอายุครบรอบ 100 ปีของมหาวิทยาลัยในวันที่26 มีนาคม พ.ศ.2559 นี้
ปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีจำนวนบุคคากร ข้าราชการ อาจารย์ และนิสิต รวมทั้งหมดประมาณ 46,273 คน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีพื้นที่สีเขียวทั้งหมดรวมพื้นที่ภายในและบริเวณโดยรอบ คือ บริเวณสนามศุภลาสัย, สนามหน้าเสาธง และสนามจุ๊บ เท่ากับ 272,000 ตร.ม. คิดเป็นพื้นที่สีเขียว 6 ตร.ม./คน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล ซึ่งกำหนดเนื้อที่สาธารณะต่อประชากร 1,000 คน ควรจะมีพื้นที่สวนประมาณ 9.38 ไร่ ส่ว เนื้อที่สวนสาธารณะต่อประชากร 1 คน ควรมีพื้นที่สวนประมาณ 15 ตร.ม. หากเราเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ของกรุงเทพมหานครว่า ในอนาคตกรุงเทพ จะมีอัตราส่วนพื้นที่สวนสาธารณะต่อจำนวนประชากร 4 ตร.ม.ต่อคน ซึ่งถือว่ายังน้อยกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดไว้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงมีแนวคิดที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับมหาวิทยาลัยและชุมชนรอบด้าน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปอดแห่งใหม่กับชุมชน, การเสริมสร้างความสุขให้กับชุมชนรอบด้าน และการใช้พื้นที่ทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ลานกิจกรรมสำหรับการแสดง กิจกรรมริมน้ำ ฯลฯ โดยโครงการนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแบ่งพื้นที่ในการพัฒนาออกเป็นสองส่วน คือ พื้นที่อุทยานจุฬาฯ 100 ปี ตั้งอยู่ระหว่างถนนจุฬาฯ ซอย 22 และซอย 26 ติดกับถนนบรรทัดทอง เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ และพื้นที่ถนนจุฬาฯ 100 ปี ปัจจุบันเป็นถนนจุฬาฯ ซอย 5 เชื่อมระหว่างถนนพระราม 1 กับถนนพระราม 4 ขนาดเนื้อที่ประมาณ 24 ไร่ โดยมีความยาวถนนประมาณ 1.3 กม. และความกว้างถนนรวมทางเท้าประมาณ 15 เมตร ซึ่งจุฬาฯ มีแนวความคิดที่จะพัฒนาความกว้างถนนเพื่อให้มีความกว้าง 30 เมตรในอนาคต โดยจะขยายจากริมรั้วฝั่งตะวันออกขึ้นไปทางฝั่งตะวันตก
แนวความคิดในการออกแบบ
• แกนมหาวิทยาลัย ( Main Axis)
เห็นได้ชัดว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการออกแบบแกนไว้อย่างชัดเจน โดยที่ฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท(ฝั่งถนนอังรีดูนังต์) เริ่มจากอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ (ตึกคณะอักษรศาสตร์) หรือ ตึกเทวาลัย ซึ่งถือเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถูกสร้างเมื่อปี พ.ศ.2458 หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2481) เสาธงชาติ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สนามรักบี้ สระน้ำ ตัดกับถนนพญาไท ฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท เริ่มจาก สำนักงานมหาวิทยาลัย (อาคารจามจุรี 1-5 ) อาคารมหาธีรราชานุสรณ์(หอกลาง) อาคารศูนย์กีฬาและนันทนาการ อาคารกีฬาในร่ม การที่ตำแหน่งที่ตั้งโครงการอุทยานจุฬาฯ 100 ปี ตั้งอยู่ในแนวแกนเดียวกันกับแนวแกนของมหาวิทยาลัยดังกล่าว การออกแบบจึงเสนอแนวความคิดเชื่อมต่อแกนหลักของมหาวิทยาลัยเข้ามาในโครงการ เพื่อเชื่อมต่อแกนมหาวิทยาลัยตั้งแต่ถนนอังรีดูนังต์ ถนนพญาไท และถนนบรรทัดทองเข้าด้วยกัน จากการเชื่อมแกนดังกล่าวจะทำให้เกิด ประตูทางเข้าใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย( New Gateway )ในฝั่งถนนบรรทัดทอง
• การออกแบบพื้นที่สีเขียว (Green Area)
จากข้อมูลมาตรฐานสากลสำหรับพื้นที่สีเขียวต่อคน ( Park and Greenery Space Planning in a large City : Laboratory of Urban Landscape Design, Nobura Masuda, Prefecture, College of Agriculture) พบว่าอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อคนของจำนวนประชากรในจุฬาฯ เท่ากับ 6 ตร.ม./คน ซึ่งยังถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้เท่ากับ 15 ตร.ม./คน การออกแบบจึงเสนอแนวคิดในการก่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุด( Maximum Green Area) และการรบกวนผิวดินให้น้อยที่สุด (Minimum Site Coverage) โดยการออกแบบนี้จะสามารถก่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวคิดเป็นพื้นที่ 98% ของพื้นที่โครงการทั้งหมด และรบกวนผิวดินเพียง 2% เท่านั้น
• การออกแบบทางตั้ง ( Vertical Configuration)
จากเหตุผลที่มีความต้องการที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุด( Maximum Green Area) และการรบกวนผิวดินให้น้อยที่สุด (Minimum Site Coverage) ดังกล่าว ทำให้พื้นที่ใช้งานต่างๆ เช่น พื้นที่สำหรับแสดงนิทรรศการ แสดงการได้รับพระราชทานพื้นที่ของมหาวิทยาลัย และการใช้ประโยชน์ในการจัดกิจกรรมต่างๆ มีความจำเป็นที่จะถูกซ้อนพื้นที่ขึ้นไปทำให้เกิดรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแนวตั้ง ( Vertical Architecture ) และ จากการซ้อนขึ้นทางแนวตั้ง จะก่อให้เกิดเป็นลักษณะรูปแบบ Landmark ที่โดดเด่นของโครงการ
• การออกแบบพื้นที่สวนทางตั้ง ( Vertical Terraced Garden)
การออกแบบภูมิสถาปัตกรรมให้สอดคล้องกับรูปลักษณะทางสถาปัตยกรรม โดยคำนึงถึงการเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียวของโครงการให้ได้มากที่สุด โดยเสนอให้เป็นพื้นที่สวนทางแนวตั้ง ( Vertical Garden ) โดยที่การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม เป็นการปลูกพันธ์ไม้เลื้อยต่างๆ เช่น ต้นแส ต้นไก่ฟ้าพระยาลอง และต้นพวงคราม เป็นต้น
• การใช้น้ำเป็นองค์ประกอบของภูมิทัศน์ ( Water Elements )
การประยุกต์ใช้องค์ประกอบน้ำให้ปรับเปลี่ยนสอดคล้องกับประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละฤดูกาล เช่น ประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทง ฯลฯ ธรรมชาติของน้ำมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น น้ำขึ้น และน้ำลง ดังนั้นการออกแบบจึงเสนอให้เป็นบ่อน้ำตามธรรมชาติ เพื่อจะสอดคล้องกับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นได้อย่างหลากหลายในอนาคต
• ที่จอดรถใต้ดิน ( Underground Parking Space )
เนื่องจากมีความต้องการให้เกิดพื้นที่สีเขียวในโครงการมากที่สุด จึงได้นำที่จอดรถไว้ใต้ดิน
โดยที่แนวความคิดหลักของการออกแบบที่จอดรถ คือการคำนึงที่จะปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ได้มากที่สุด จึงได้แบ่งพื้นที่ใต้ดินเป็นออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนพื้นดินที่สามารถปลูกต้นไม้ใหญ่ และส่วนโครงสร้างที่จอดรถที่จะอยู่ใต้กะบะต้นไม้ลึก 2 เมตรสำหรับปลูกต้นไม้ขนาดกลางและไม้พุ่ม
• ระบบขนส่งมวลชน ( Public Transportation )
เสนอการนำกระเช้าลอยฟ้า ( Cable Car ) มาใช้ในโครงการ เนื่องจากต้องการส่งเสริมลักษณะทางกายภาพของโครงการ รวมถึงความต้องการทำให้โครงสร้างระบบขนส่งมวลชนมีการรบกวนผิวดินให้น้อยที่สุดด้วยเช่นกัน ระบบกระเช้าลอยฟ้ามีหน้าที่นำผู้ใช้อาคารเข้ามาในอาคาร Landmark
PLAN
LAYOUT & PROGRAMMES
SECTION ANALYSE
SECTION
ENERGY DIAGRAM
DESIGN CONCEPT